- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2012-1-13
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2012-12-14
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 100
- เครดิต
- 571
- สำคัญ
- 0
- โพสต์
- 347
|
"พิชัย" ลั่น ต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง สะท้อนราคาที่เป็นจริงแม้จะถูกต่อต้าน ย้ำเอ็นจีวีไม่ขยับเจอปัญหาหนักแน่ ด้าน ปตท.แจงต้นทุนเอ็นจีวีสูงกว่า 15.50 บาทต่อ กก.หากไม่ขึ้นราคาคงอ่วมรับภาระหนักอึ้งไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยืนยันไม่ได้ผูกขาดการจำหน่าย ขณะที่ภาคเอ็นจีโอ สหกรณ์แท็กซี่ เตรียมยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวขึ้นราคาเอ็นจีวี-แอลพีจี...
นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ว่า เป็นเรื่องที่กดดันและเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะถูกต่อต้าน หากไม่กล้าทำคงจะแก้ปัญหาประเทศได้ยาก ตนไม่อยากมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งราคาควรจะสะท้อนความจริง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้ เพราะขณะนี้ราคาเอ็นจีวีที่ขายขาดทุนไม่อยากให้เหมือนแอลพีจี ที่มีรถเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 แสนคัน แต่ไทยต้องนำเข้าแอลพีจีเป็นล้านตันต่อปี ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากราคาแอลพีจีของไทยถูกกว่าตลาดโลก และถูกกว่าราคาน้ำมันอย่างมาก โดยแอลพีจีรถยนต์ในปี 2550 มีเพียง 5,812 ล้านลิตรต่อปี แต่ล่าสุดปี 2554 ใช้เพิ่มเป็น 8,202 ล้านลิตร และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คาดว่าปี 2555 การใช้จะเพิ่มถึงร้อยละ 11.2 หรือเพิ่มเป็น 9,120 ล้านลิตร
รวมถึงกรณีราคาเอ็นจีวีหากไม่ขยับขึ้นปัญหาจะหนักเหมือนแอลพีจี ซึ่งนอกจาก ปตท.จะต้องเข้ามาอุดหนุนราคาแล้ว ยังต้องนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนซึ่งไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม โครงสร้างต้นทุนจะมีการหารือในคณะกรรมการร่วมกับทางผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการยอมรับกันมากขึ้น
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.พร้อมชี้แจงเรื่องต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นผู้ดูแล ตรวจสอบตั้งแต่ราคาก๊าซปากหลุม ค่าผ่านท่อ มาร์จิ้นต่าง ๆ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกขั้นตอน ส่วนราคาที่ทางสถาบันปิโตรเลียมที่ศึกษาเมื่อปี 2553 ที่ราคาปากหลุมรวมค่าผ่านท่อ ราคาประมาณ 8.39 บาทต่อ กก. ราคาค่าขนส่งสถานีแม่และลูกกว่า 5 บาทต่อ กก. รวมต้นทุนและภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาที่เหมาะสมในปี 2553 อยู่ที่ 15.50 บาทต่อ กก. เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องการเห็นคนกลางสถาบันด้านวิชาการมาศึกษา
"หากถาม ปตท.ก็ต้องตอบว่าต้นทุนสูงกว่านี้ โดยที่ผ่านมา ปตท. รับภาระขยายปั๊มเอ็นจีวีตามนโยบายรัฐบาลไปแล้ว 4 หมื่นล้านบาท หากไม่ทำอะไรเลย จะรับภาระอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยิ่งน้ำมันแพงคนจะยิ่งหันมาใช้ทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวีมากขึ้น และขอยืนยันว่า ปตท.ไม่ได้ผูกขาดการจำหน่าย หากใครเข้ามาทำธุรกิจก๊าซทั้งระบบก็ทำได้ แต่ต้นทุนสูงมาก จึงไม่มีใครเข้ามาแข่งขัน โดย ปตท.ดำเนินการขยายงานตามนโยบายของรัฐมาโดยตลอด"
อย่างไรก็ตาม เอ็นจีวีเป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งต้องยอมรับว่า การใช้ก๊าซฯ คงจะมีประสิทธิภาพที่ดีเท่ากับน้ำมันไม่ได้ เพราะสินค้าโดยเฉพาะประเภทพลังงานที่ต่างกัน คุณภาพก็ต่างกัน โดยวันนี้ เอ็นจีวี อยู่ที่ 8.50 บาทต่อ กก. แต่ราคาน้ำมันสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ราคาเอ็นจีวีถูกกว่าเบนซินร้อยละ 80 ถูกกว่าดีเซลร้อยละ 70 ซึ่งผู้บริโภคต้องเลือกว่าจะเอาของแพงที่ดี หรือใช้ของถูกแต่ดีน้อยกว่า และการที่มีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในเอ็นจีวีก็เพื่อปรับคุณภาพก๊าซฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกให้รถทุกคันเติมได้ ส่วนกรณีก๊าซฯ พม่าหากหยุดส่งต้องยอมรับว่าต้องกระทบต่อเอ็นจีวี เพราะก๊าซฯ แตกต่างจากน้ำมันที่ไม่สามารถสต๊อกได้เป็นจำนวนมาก ๆ
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างพลังงานในวันที่ 16 ม.ค. นี้ จะส่งผลให้ราคาแอลพีจีภาคขนส่งขึ้นราคา 41 สต.ต่อลิตร เอ็นจีวี ขึ้นราคา 50 สต.ต่อ กก. เงินกองทุนน้ำมันดีเซลจัดเก็บ 60 สต. และเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 1 บาทต่อลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สหกรณ์แท็กซี่ และผู้บริโภค จะยื่นต่อศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีภาคขนส่ง ในวันที่ 16 ม.ค.นี้.
ขอบคุณข่าวจาก: ไทยรัฐออนไลน์
ขอบคุณ Plugin ดีๆจาก อสังหา.ไทย - ข่าวอสังหาทั่วไทย
ข่าวเด่น - คลองสามวา, คลองเตย, ดอนเมือง,ทวีวัฒนา
|
ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก
|